รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ เป็นระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที (BRT) สายนำร่องของกรุงเทพมหานคร และเป็นสายแรกของประเทศไทย เดินรถบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์, ถนนพระรามที่ 3, สะพานพระราม 3 และถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร 12 สถานี โดยจัดช่องทางการเดินรถแยกจากช่องทางปกติบนพื้นถนนเดิมในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นบนสะพานข้ามทางแยกและสะพานพระราม 3ที่เดินรถในช่องเดินรถมวลชน (high-occupancy vehicle/HOV lane) ร่วมกับรถยนต์ที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และบริเวณทางแยกบางจุดที่ใช้ช่องทางร่วมกับรถทั่วไป
โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในสมัยของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยงบประมาณ 1,400 ล้านบาท หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 เริ่มก่อสร้างจริงเมื่อปี พ.ศ. 2550 และมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 แต่ได้เกิดความล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้การก่อสร้างสถานีเสร็จสมบูรณ์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว เนื่องจากการจัดหาตัวรถหยุดชะงักไปถึง 9 เดือนภายใต้กระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมไปถึงความล่าช้าในกระบวนการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ, การก่อสร้างทางเดินเชื่อมสถานีสาทรกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรีที่แยกสาทร-นราธิวาส และการก่อสร้างช่องทางเดินรถเฉพาะสำหรับบีอาร์ที แต่ในภายหลังสามารถเปิดให้บริการได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร, แขวงช่องนนทรี แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา, แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม และแขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
เริ่มต้นจาก ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ที่แยกสาทร-นราธิวาสด้านทิศใต้ ผ่านแยกจันทน์-นราธิวาส แยกรัชดา-นราธิวาส เลี้ยวขวาที่แยกพระรามที่ 3-นราธิวาสเข้าสู่ถนนพระรามที่ 3 ขึ้นสะพานข้ามแยกพระรามที่ 3-วงแหวนอุตสาหกรรม, แยกสาธุประดิษฐ์, แยกพระรามที่ 3-รัชดา (ใต้สะพานพระราม 9) และแยกเจริญราษฎร์ ก่อนขึ้นสะพานพระราม 3 ข้ามแยกถนนตก แม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามแยกบุคคโลและแยกมไหสวรรย์เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แล้วเลี้ยวขวาไปสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกรัชดา-ตลาดพลู ฝั่งห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ท่าพระ
ทางกิจการได้เริ่มเก็บอัตราค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 เป็นต้นมาและจะเก็บค่าโดยสารในอัตรานี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ทางกิจการได้ประกาศให้ใช้บัตรแรบบิตในการชำระค่าโดยสารได้ เนื้อหาบัตรนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ rabbitcard.com
ให้มีการให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการในหลายโอกาสของวันพิเศษนั้น ๆ โดยมีกลุ่มจำเพาะที่ได้ประโยชน์จากสิทธิ์นี้
ล่าสุด วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ วันเด็ก และวัน CarFreeDay ได้มีนโยบายราคาพิเศษดังกล่าว
ดำเนินงานโดยทางกรุงเทพมหานครลงทุนทั้งหมด และให้บริษัทกรุงเทพธนาคมตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการ จัดซื้อรถ และจัดหาพนักงานมาปฏิบัติการ แต่ไม่มีส่วนเข้ามาลงทุน และไม่มีส่วนในการแบ่งผลกำไร จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน)
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/รถโดยสารด่วนพิเศษ_สายสาทร-ราชพฤกษ์